กิจกรรมพิธีไหว้ครู พิธีบายศรีรับขวัญ ประจำปีการศึกษา 2565
กิจกรรมพิธีไหว้ครู พิธีบายศรีรับขวัญ ประจำปีการศึกษา 2565 จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี 8 กันยายน 2565 เพื่อเป็นให้นักศึกษาแสดงออกถึงความเคารพรักและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ โดย ดร.ฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดี เป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นนายกสโมสรนักศึกษานำนักศึกษาทุกคน กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย คำบูชาครู และกล่าวคำปฏิญาณตน นักศึกษานำพานดอกไม้ พานเทียนธูปไหว้ครู เพื่อแสดงความเคารพนับถือครู และมีการมอบเกียรติบัตรทุนเรียนดีให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีและนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย จากนั้นเป็นพิธีบายศรีรับขวัญ โดยมีการแห่องค์บายศรี มีการบวงสรวงองค์บายศรี และการผูกข้อมือรับขวัญนักศึกษาใหม่ทุกคน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารพลกฤษณ ประโมทะกะ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
เกร็ดความรู้
พิธีไหว้ครู เป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมแสดงออกในความเคารพ บูชา รำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ ผู้ประสิทธ์ ประสาทวิชาความรู้ให้จนสามารถนำไปประกอบสัมมาอาชีวะ พัฒนาทักษะชีวิต สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ตนเอง และครอบครัว ตลอดจนชาติบ้านเมืองได้ ซึ่งมักจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี เพราะถือกันว่าพระพฤหัสเป็นต้นตระกูลของครูผู้ให้กำเนิดวิชาการต่างๆ เป็นเทพที่ส่งเสริมวิทยาการและความเฉลียวฉลาด จึงถือเอาวันนี้เป็นวันไหว้ครูเพื่อความเป็นสิริมงคล “ครู” คำนี้มีความหมายยิ่งใหญ่ แปลว่า ผู้สั่งสอนหรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ มาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) อันสื่อถึงคำว่า “หนัก”ในความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอน
ความหมายของดอกไม้ต่างๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู
ดอกเข็ม เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสติปัญญาที่จะได้มีความแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความเฉียบคมทางความคิด
ดอกมะเขือ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนดอกมะเขือที่โน้มต่ำลงมาเสมอ
หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเข้มแข็ง อดทน เหมือนหญ้าแพรกที่เจริญงอกงามและแพร่กระจายพันธุ์ไปได้อย่างรวดเร็ว ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมีระเบียบวินัย เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว” คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัย หากใครที่ทำตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่วแต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก แต่หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซนและความเกียจคร้านของตนเองได้ บุคคลนั้นก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก
ข้อมูล :กระทรวงศึกษาธิการ